‘PROTECT’ โครงการความร่วมมือสหภาพยุโรปและองค์การสหประชาชาติโครงการใหม่ส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่: 26 มีนาคม 2567

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

logos
Photo: ILO Asia Pacific

English | ภาษาไทย

กรุงเทพ, ประเทศไทย — สหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ทุนสนับสนุน 13 ล้านยูโร แก่องค์การสหประชาชาติสำหรับโครงการความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อว่า ‘PROTECT’ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสิทธิแรงงานข้ามชาติหญิง เด็กและกลุ่มที่มีความเสี่ยงในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

โครงการ PROTECT ที่มีระยะการดำเนินงาน 3 ปี จะมุ่งส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและลดความเปราะบางของกลุ่มที่มีความเสี่ยง ด้วยการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การป้องกันและการรับมือกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก การค้ามนุษย์ และการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ

ฯพณฯ เอกอัครราชทูต นายเดวิด ดาลี คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ผู้คนทั่วโลกถูกบีบบังคับให้ต้องทิ้งบ้านเพื่อเสาะหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในการเดินทางข้ามพรมแดนและที่จุดหมายปลายทาง แรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กมีความเสี่ยงที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เรามีความภาคภูมิใจที่จะสนับสนุนภาคีสหประชาชาติในโครงการใหม่ที่มุ่งแก้ปัญหาซึ่งเป็นปรากฎการณ์ระดับโลกนี้ในระดับภูมิภาค เราจะทำงานร่วมกับประเทศไทยและประเทศภาคีอื่นๆ ในภูมิภาค โดยให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงและเด็ก เสริมสร้างการบริหารจัดการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นแรงงาน แก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ รวมถึงพัฒนาช่องทางทางกฎหมายสำหรับนโยบายการย้ายถิ่นของแรงงานที่ยั่งยืน”

ในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีผู้ย้ายถิ่นประมาณ 10.6 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และอีก 1.3 ล้านคนเป็นเด็ก แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ได้รับค่าจ้างต่ำ เผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ที่รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการคุกคาม แรงงานหญิงข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งมักเป็นงานชั่วคราวและได้รับการคุ้มครองทางสังคมเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมเลย เด็กๆ ที่ติดตามแรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับการละเมิด การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและการค้ามนุษย์ รวมถึงการเข้าถึงการบริการเพื่อการคุ้มครองเด็กที่ไม่เพียงพอ

โครงการ ‘PROTECT’ ดำเนินการโดย 4 หน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ดังต่อไปนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นวีแมน) สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)

หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการจะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องใน 4 ประเทศที่โครงการดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างกฎหมายและนโยบายให้ประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถและกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ

ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวถึงความสำคัญของโครงการใหม่นี้ในภูมิภาคนี้ว่า “การย้ายถิ่นของแรงงานถือเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง สร้างประโยชน์ให้กับแรงงานข้ามชาติ ชุมชน และนายจ้างทั้งหลายร่วมกัน หากเราต้องการให้การคุ้มครองและการเข้าถึงงานที่มีคุณค่าดังที่แรงงานข้ามชาติสมควรได้รับ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมทางสังคม นโยบายและแนวทางการกำกับดูแลการย้ายถิ่นจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการที่แตกต่างระหว่างหญิงและชาย มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ”

“การจัดการกับปัญหาที่ความรุนแรงและการคุกคามต่อแรงงานข้ามชาติหญิงที่พบได้โดยทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องที่จำเป็น เราจะดำเนินการส่งเสริมสิทธิต่างๆ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติหญิงผ่านโครงการความร่วมมือนี้ เพื่ออนาคตที่แรงงานข้ามชาติหญิงทุกคนสามารถใช้ชีวิตและทำงานโดยปราศจากความหวาดกลัวและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” อาเลีย เอล – ยาสซีร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นวีแมน) กล่าว

“เด็กข้ามชาติมีความเปราะบางอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการย้ายถิ่นของแรงงาน” เดโบรา โคมินี ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) กล่าว “เด็กๆ เสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การละเมิด และความรุนแรง เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา บริการสาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคม นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการย้ายถิ่นจะต้องให้ความสำคัญกับมิติเด็กที่มีความละเอียดอ่อน และคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็กทุกคน ไม่ว่าสถานภาพด้านการย้ายถิ่นของเด็กเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร”

“เพื่อทำลายวงจรการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการละเมิด การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติที่ถูกลักลอบพาเข้าเมือง ก่อนและระหว่างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาถือเป็นสิ่งสำคัญ” มาซุด คาริมิพัวร์ ผู้แทนสำนักงานอาชญากรรมและยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค กล่าว “ภายใต้โครงการใหม่นี้ ยูเอ็นโอดีซีจะดำเนินการต่อยอดจากงานที่เคยทำร่วมกับหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานด้านการยุติธรรมในภูมิภาค เพื่อตรวจสอบให้สิทธิของผู้เสียหายได้รับการคุ้มครอง และผู้กระทำความผิดได้รับโทษ”

โครงการ PROTECT จะดำเนินการจนถึงเดือนธันวาคม 2569 โดยดำเนินงานต่อยอดจากผลการดำเนินโครงการและบทเรียนต่างๆ จากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในปีที่ผ่านมาสองโครงการ ได้แก่ โครงการ ‘ปลอดภัยและยุติธรรม: การทำให้สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติหญิงเป็นจริงในภูมิภาคอาเซียน’ ที่ดำเนินโครงการโดยไอแอลโอและยูเอ็นวีแมน โดยร่วมกับ ยูเอ็นโอดีซี ระหว่างปี 2561 ถึง 2566 และ ‘การคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง’ ที่ดำเนินโครงการโดยยูนิเซฟ ระหว่างปี 2561 ถึง 2565

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

ดิเอโก เดอ ลา โรซา
เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการงานสื่อสารระดับภูมิภาค ยูเอ็นวีแมน
อีเมล์: [ Click to reveal ] | โทร: +66 99 503 7177

ธนภรณ์ สาลีผล
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
อีเมล: [ Click to reveal ] | โทร: +66 2 305 2662

สตีฟ นีแดม
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการสื่อสาร สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก
อีเมล์: [ Click to reveal ] | โทร: +66 83 606 6628

ลอร่า กิล
เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารยูเอ็นโอดีซี
อีเมล์: [ Click to reveal ] | โทร: +66 61 173 0864